วัดโชติทายการาม จ.ราชบุรี เชิญไหว้หลวงพ่อลพบุรีราเมศร์ เที่ยวพิพิธภัณฑ์ วัดโชติทายการาม

01:42 0 Comments


วัดโชติทายการาม เป็นวัดในพระพุทธศาสนาเถรวาท สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่เลขที่ 3 หมู่ที่ 1 ต.ดำเนินสะดวก อ.ดำเนินสะดวกจ.ราชบุรี สร้างขึ้นด้วยศรัทธาของคุณปู่มั่ง มั่งมี คหบดีผู้มีใจกุศล ถวายที่ดินของตนเพื่อสร้างวัด กับทั้งบอกบุญชาวบ้านรวมเงินได้ 1 ชั่งเศษ  นอกจากนี้ยังได้มอบบ้านให้วัดนำมาซ่อมเป็นกุฏิ และยกชุดจาน-ชามเคลือบ-เขียนสี อย่างดีให้กับวัด (หลังจากที่เสียชีวิตไปแล้วด้วยการทำพินัยกรรมยกให้) ก่อสร้างกุฏิ 1 หลัง เมื่อ พ.ศ. 2417 แล้วนิมนต์พระภิกษุช่วง จากวัดบางคนฑีใน มาเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก

ศาสนสถานปูชนียสถานในวัดได้แก่

หลวงพ่อลพบุรีราเมศร์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สมัยสุโขทัย – ลพบุรี เดิมอยู่ที่วัดร้างในจังหวัดลพบุรี เป็นพระพุทธรูปศิลาแลง






นอกจากนี้ยังมี พิพิธภัณฑ์ วัดโชติทายการาม โดย การสร้างพิพิธภัณฑ์เกิดมาตั้งแต่สมัยที่เจ้าอาวาสรูปที่แล้วคือพระครูสุนทรธรรมรัต (หลวงพ่อกิมไซร) เห็นว่าข้าวของเครื่องใช้ที่บรรดาญาติโยมนำมาถวายให้กับวัดนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั้นมีจำนวนมากมาย บ้างก็กระจัดกระจายไปอยู่ตามกุฏิต่างๆ ไม่ได้ถูกรวบรวมและจัดเก็บไว้แหล่งเดียวกันจึงเกรงว่าจะสูญหายไป และจากประสบการณ์ของการเป็นเจ้าคณะอำเภอ และเจ้าคณะตำบล ซึ่งต้องเป็นกรรมการในการตรวจสอบข้าวของต่างๆ เมื่อเจ้าอาวาสของวัดในเขตปกครองมรณภาพ ก็มักจะพบปัญหาข้าวของสูญหายเป็นคดีความฟ้องร้องกันอยู่เนืองๆ เนื่องจากว่าเจ้าอาวาสในรุ่นถัดมาไม่ทราบว่าในรุ่นก่อนๆ นั้นได้รับถวายอะไรมาบ้างจึงเป็นโอกาสให้มีผู้ฉกฉวยเอาไปได้ง่าย  



 เหตุนี้ พระครูสุนทรฯ จึงเกรงจะเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้นในวัด ระหว่างที่ท่านยังมีชีวิตก็ได้มอบหมายให้พระเลขาฯ เป็นผู้จัดทำทะเบียนวัตถุที่ได้รับถวาย และวัตถุที่ตกทอดมาตั้งแต่เจ้าอาวาสรุ่นก่อนๆ โดยเฉพาะวัตถุมีค่าประเภทพระพุทธรูป (เช่น พระรัตนะ และพระแก้บน ที่มีมูลค่าในตลาดค้าของเก่า พระบูชาแบบตั้งโต๊ะที่หล่อด้วยโลหะ)  เครื่องถ้วยชาม เครื่องแก้ว คัมภีร์ใบลาน 

และในช่วงปี 2542จึงได้มอบหมายให้พระมหาประกอบ  (เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน) เมื่อครั้งยังเป็นลูกวัดเป็นผู้ดูแลในการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ จนแล้วเสร็จภายในปีเดียว ด้วยเงินงบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 5ล้านกว่าบาท ที่ได้รับบริจาคและศรัทธาบุญจากลูกศิษย์ของพระครูสุนทรฯ แต่อาคารยังสร้างไม่เสร็จพระครูสุนทรฯ ก็มรณภาพไปเสียก่อน ดังนั้น พิธีเปิดอาคารจึงถือเอาวันเดียวกับวันที่พระราชทานเพลิงศพของพระครูสุนทรฯ ในวันที่ 30เมษายน 2542และตั้งชื่ออาคารไว้เป็นเกียรติว่า “อนุสรณ์สุนทรธรรมรัต”














แชร์เรื่องราวธรรมะดีๆ

0 ความคิดเห็น: