การฝึกสมาธิตามแนว พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ


การฝึกสมาธิตามแนว........พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ
การทำสมาธิเบื้องต้น ต้องชำระศีลให้บริสุทธิ์ ทำวัตรสวดมนต์บูชาพระ เจริญพรหมวิหาร และสมาทานกรรมฐาน เดินสมาธิ / เดินจงกรม

การเดินสมาธิ หรือเดินจงกรม เหมาะสำหรับคนที่มักมีความคิดฟุ้งมาก พระพุทธองค์กล่าวว่า ประโยชน์ของการเดินจงกรมมีดังนี้คือ

ทำให้ร่างกายแข็งแรงไม่เจ็บป่วยง่าย
ทำให้ขาแข็งแรงเดินได้ทนและไกล
  เมื่อทำหลังอาหารทำให้อาหารย่อยง่าย
  สมาธิที่ได้จากการเดินจงกรมจะอยู่ได้นาน
วิธีเดินจงกรม เลือกสถานที่ยาวประมาณ ๕ เมตร ถึง ๑๐ เมตร แล้วแต่ความกว้างของสถานที่ และความรู้สึกพอดี บางทียาวนัก ก็ไม่ดี เหนื่อย บางครั้งสั้นไปก็ทำให้เวียนหัว หันหน้าไปทางเดินจงกรม แต่อย่ามองไกลเกินไป มองทอดสายตาดู ไปข้างหน้าประมาณ ๔   ก้าวเพื่อไม่ให้จิตใจวอกแวก แต่ไม่ใกล้เกินไป จนรู้สึกปวดต้นคอ มือซ้ายมาวางที่หน้าท้องและมือขวามาวางทับ เพื่อป้องกันแขนแกว่งขณะเดิน และดูสวยงาม เมื่อได้ท่าที่พอดีแล้วก็เดินก้าวขาขวาไป ก็นึกคำว่า "พุท" และเมื่อก้าวขาซ้ายไปก็นึก   คำว่า "โธ" เวลาเดินไม่หลับตาแต่ให้ลืมตา และกำหนดสัมผัสของเท้าที่ก้าวเหยียบลงพื้น เดินว่าพุทโธไปเรื่อย พอถึงปลายทาง เดินก็หยุดนิดหนึ่ง แล้วก็หันกลับด้านขวามือ   มาทางเดิม และเดินว่าพุทโธต่อไป อย่าเร็วเกินไป หรือช้าเกินไป กำหนดจิตของเราอยู่ที่ก้าวเดินและคำภาวนา ไม่ให้จิตวอกแวก
** สิ่งสำคัญคือ   การกำหนดจิตให้ทันการเคลื่อนไหว ส่วนการเดินเป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้น เราควรทำอย่างน้อย ๓๐ นาที และจะดีมากขึ้นถ้าตามด้วยการนั่งสมาธิ เพราะการเดินจงกรม เป็นการเปลี่ยน อริยาบท ปล่อยอารมณ์ และเตรียมร่างกายให้พร้อมสู่การนั่งสมาธิ
อิริยาบถนั่งสมาธิ
นั่งขัดสมาธิ เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย วางลงบนตัก ตั้งกายตรง (ไม่นั่งก้มหน้า ไม่นั่งเงยหน้า ไม่นั่งเอียงซ้าย ไม่เอียงขวา ไม่โยกหน้า ไม่โยกหลัง) ไม่กดและข่มอวัยวะในร่างกาย วางกายให้สบาย ๆ ตั้งจิตให้ตรง ลงตรงหน้า กำหนรู้ซึ่งจิตเฉพาะหน้า ไม่ส่งจิตให้ฟุ้งซ่าน ไปในเบื้องหน้า-เบื้องหลัง(อนาคตและอดีต) พึงเป็นผู้มีสติ กำหนดจิตรวมเข้าตั้งไว้ในจิต บริกรรม พุทโธ” จนกว่าจะเป็นเอกัคคตาจิต



แชร์เรื่องราวธรรมะดีๆ

0 ความคิดเห็น: